
เพื่อนๆเคยสงสัยหรือเปล่าครับว่าทำไมบางทีชื่อหุ้นที่เรากำลังสนใจอยู่ถึงมีตัวอักษร
“-W ” มาต่อท้ายด้วย แล้วมันคืออะไร? เหมือนหุ้นรึเปล่า? ทำไมราคาถึงต่างกัน? จริงๆแล้วการที่ชื่อหุ้นมี “-W ” ต่อท้ายนั้นคือใบสำคัญแสดงสิทธิของหุ้นตัวนั้นๆ
หรือที่เรียกกันว่า “Warrant”
นั่นเองครับ
ตามสตางค์คุงมาดูกันครับว่า Warrant
คืออะไร และมีวิธีเลือกยังไงครับ

Warrant คืออะไร?
Warrant คือ ใบแสดงสิทธิที่จะให้สิทธิผู้ถือในการซื้อหุ้นที่ราคาและจำนวนที่บริษัทประกาศ โดยจะต้องใช้สิทธิภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
ยกตัวอย่างเช่น SIRI-W2 เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะให้สิทธิซื้อหุ้น SIRI (หรือเรียกกันว่าหุ้นแม่) ในราคา 2.5 บาทต่อหุ้น มีอัตราการใช้สิทธิ 1:1 หมายถึง SIRI-W2 จำนวน 1 หน่วยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้น SIRI ได้ 1 หุ้น ซึ่งทางบริษัทได้ระบุระยะเวลาการใช้สิทธิไว้ 3 ปี และจะครบกำหนดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 โดยผู้ถือ SIRI-W2 สามารถใช้สิทธิได้ทุกวันทำการสุดท้ายของทุกๆสิ้นไตรมาส
โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อเราได้รับ Warrant หรือสนใจจะซื้อ Warrant มีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยคร้าบบ

ราคาใช้สิทธิ
เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อราคา Warrant ถ้าราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ตัว warrant เองก็จะมีค่า(In the money) เพราะนักลงทุนสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นในราคาถูก และไปขายในตลาดหุ้นที่ราคาแพงได้ ในทางกลับกันถ้าราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ณ ปัจจุบัน(Out of the money) ก็จะไม่จูงใจให้คนใช้สิทธิ และตัดสินใจขาย warrant เมื่อเข้าใกล้วันหมดอายุ ทำให้มูลค่าของ warrant มีแนวโน้มลดต่ำลง และกลายเป็น 0 นั่นเองครับ

อัตราการใช้สิทธิ
ที่ 1:1 หมายถึง 1 warrant สามารถซื้อหุ้นแม่ได้ 1 หุ้น ทำให้เราสามารถคำนวณได้คร่าวๆว่าราคาของ warrant น่าจะเท่ากับส่วนต่างของราคาใช้สิทธิ และราคาหุ้นในตลาดฯ เช่น สมมุติราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นXYZ อยู่ที่หุ้นละ 3 บาท แต่ราคาหุ้นแม่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นที่ราคา 5 บาท เพราะฉะนั้นราคา XYZ-W ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 บาทครับ

อายุของ Warrant
บริษัทที่ออก warrant จะระบุอายุเป็นช่วงเวลาหลังจากวันที่มีการเสนอขาย เช่น 3ปี 4ปี หรือ 5ปี ถ้าระยะเวลาหมดอายุของ warrant ยังมีเหลืออยู่อีกค่อนข้างนาน ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นแม่มีโอกาสขึ้นไปต่อได้สูง นักลงทุนอาจจะเลือกเก็งกำไรใน warrant ทำให้ราคา warrant นั้นมีการซื้อขายที่ราคาสูงกว่าส่วนต่างของราคาใช้สิทธิซื้อและราคาหุ้นในตลาดหุ้น หรือที่เรียกกันว่าซื้อขายที่ราคา “Premium” นั่นเอง ในทางกลับกัน ถ้า warrant ซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าส่วนต่างของราคาใช้สิทธิและราคาหุ้นในตลาดหุ้นก็จะเรียกว่าซื้อขายที่ราคา “Discount”

ระยะเวลาแจ้งความจำนงใช้สิทธิ
แต่ละบริษัทจะมีช่วงเวลาให้นักลงทุนแจ้งว่าต้องการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามที่ระบุไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิที่ไม่ตรงกัน อาจจะให้แจ้งทุกสิ้นไตรมาส หรือสิ้นปี นักลงทุนที่ถือ warrant ควรจะศึกษารายละเอียดก่อนเพื่อที่จะได้ใช้สิทธิได้ทันในช่วงระยะเวลาที่ต้องการครับ

ราคาของ Warrant
จากที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าราคาของ warrant มักจะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาใช้สิทธิซื้อและราคาหุ้นในตลาด ซึ่งทำให้โดยทั่วไป warrant จะมีราคาต่ำกว่าหุ้นแม่ค่อนข้างมาก บางทีหุ้นแม่ราคา 40 แต่ warrant อาจจะราคาเพียงแค่ 3 หรือ 4 บาท ทำให้ warrant กลายเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ใช้เงินน้อยกว่าลงทุนในหุ้นแม่ แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าเช่นกันเพราะราคาจะมีความผันผวนมากกว่า และมีวันหมดอายุ ถ้าเพื่อนๆสนใจลงทุนอาจจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและเตรียมใจไว้ให้ดีนะครับ