
การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เพราะนอกเหนือจากการเลือกหุ้นที่ดีแล้ว
การจับจังหวะเข้าซื้อขายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน การซื้อหุ้นที่ดีได้ในราคาถูก
สามารถสร้างความได้เปรียบในการลงทุน เนื่องจากเราใช้เงินจำนวนเท่ากัน
แต่ซื้อหุ้นได้มากกว่า ความเสี่ยงต่ำลง และยังได้ผลกำไรมากขึ้นด้วย
วันนี้สตางค์คุงจึงขอนำเสนอ 3 พื้นฐานสำคัญสำหรับเพื่อนๆที่พึ่งเริ่มต้นจับสัญญาณทางเทคนิค
สามารถมองหาจังหวะการซื้อขายที่สร้างความได้เปรียบ และใช้เงินลงทุนได้คุ้มค่ามากขึ้นครับ

หนึ่งในพื้นฐานสำคัญของการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคคือ การเข้าใจแนวโน้มของราคาหุ้น เนื่องจากแนวโน้มของราคาสามารถเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้เป็นเวลานาน อาจกินเวลาหลายเดือน หรือเป็นปี การเลือกจังหวะซื้อขายที่สวนทางกับแนวโน้มปัจจุบันนั้น อาจทำให้เพื่อนๆติดหุ้น หรือขายเร็วเกินไป การทำความเข้าใจลักษณะของแนวโน้มต่างๆ จะทำให้เพื่อนๆสามารถเลือกหุ้นที่น่าสนใจ และหลีกเลี่ยงหุ้นที่ไม่น่าลงทุนได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายๆดังนี้

แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)
ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆโดยจุดพักตัวของราคาปัจจุบันจะสูงกว่าจุดพักตัวก่อนหน้าเสมอ เรียกการเปรียบเทียบในลักษณะนี้ว่า “Higher Low” เช่น
a) หุ้นAAA เคลื่อนที่ขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงระดับราคา 10 บาท
b) เกิดการย่อตัวกลับของราคามาที่ 9 บาท (จุดพักตัว 1)
c) จากนั้นราคาหุ้นพุ่งขึ้นต่อไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ราคา 13 บาท
d) และเกิดการย่อตัวกลับลงมาพักฐานที่ราคา 11 (จุดพักตัว2) ก่อนที่ราคาจะพุ่งขึ้นต่อไป

แนวโน้มขาลง (Downtrend)
ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงแบบลดลงเรื่อยๆ โดยจุดฟื้นตัวของราคาปัจจุบัน (rebound) จะต่ำกว่าจุดฟื้นตัวก่อนหน้าเสมอ เรียกวิธีการเปรียบเทียบแบบนี้ว่า “Lower High” เช่น
a) ราคาหุ้น BBB ปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆจนถึงราคา 5 บาท
b) จากนั้นราคามีการฟื้นตัวขึ้นไปที่ราคา 6 บาท (จุดฟื้นตัว1)
c) ต่อมาราคาตกกลับลงมาถึง 3บาท
d) ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นไปทดสอบราคา 4 บาท (จุดฟื้นตัว 2) และตกกลับลงมาอีกครั้ง

แนวโน้มออกข้าง (Sideway Trend)
ราคาหุ้นจะแกว่งตัวแบบไร้ทิศทางที่ชัดเจน โดยจะขึ้นและลงอยู่ในกรอบ เช่น
เมื่อราคาหุ้น CCC วิ่งขึ้นไปทดสอบแนวราคา 15 บาท จะตกกลับมาที่ราคา 10 บาทและเด้งขึ้น โดยราคาหุ้นจะแกว่งตัวขึ้นลงไปเรื่อยๆอยู่ในกรอบราคา 10-15 บาท

แนวรับและแนวต้านเป็นเส้นสมมติที่ใช้เพื่อเป็นจุดสังเกตการเคลื่อนที่ของราคา
โดยมองหาแนวที่เมื่อราคาหุ้นเคลื่อนผ่านมาถึง ราคาจะหยุดขึ้น หรือหยุดลง
และมีการเปลี่ยนกลับของทิศทาง
แนวของราคานั้นๆจะถูกนำมาเฝ้าสังเกตเพื่อใช้หาจุดเข้าซื้อ หรือขายได้

แนวรับ (Support Line)
คือจุดที่มีแรงซื้อมารับราคาหุ้นไว้ไม่ให้ตกลงไป หรือสามารถชะลอการร่วงลงของราคาได้ในเวลาหนึ่ง เราสามารถสังเกตแนวรับได้โดยมองหาจุดที่ราคาหุ้นเคลื่อนที่มาถึงแล้ว จะหยุดลงต่อ หรือเด้งกลับขึ้นไป เช่น เมื่อราคาหุ้น AAA ตกลงมาที่แนวราคา 10 บาท ราคาหยุดลง และราคาเด้งกลับขึ้นไป ต่อมาราคาตกกลับลงมาที่ 10 บาทอีกครั้ง และราคาหุ้นก็สามารถดีดกลับขึ้นไปได้อีก ยิ่งแนวราคาถูกทดสอบบ่อยครั้ง และสามารถรับการตกของราคาได้ แนวรับนั้นๆก็จะถูกมองว่าเป็น “แนวรับที่มีความสำคัญ”

แนวต้าน (Resistance Line)
คือจุดที่มีแรงขายมาต้านราคาหุ้นไว้ไม่ให้ปรับตัวขึ้นต่อได้ หรือสามารถชะลอการขึ้นของราคาหุ้นได้ในเวลาหนึ่ง เราสามารถหาแนวต้านที่มีนัยสำคัญได้จากการสังเกตจุดที่เมื่อราคาหุ้นวิ่งไปชนแล้ว จะถูกทุบหรือตกกลับลงมาอย่างรุนแรง เช่น เมื่อราคาหุ้น BBB พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อชนระดับราคา 20 บาท ราคาหุ้นกลับตกลงมาที่ 18 บาท ต่อมาราคาหุ้นวิ่งขึ้นทดสอบราคา 20 บาทอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทะลุผ่านได้ ทำให้ราคาหุ้นกลับตัวลงมาอีก ยิ่งแนวราคาไหนสามารถต้านการขึ้นของราคาหุ้นได้บ่อยครั้ง แนวต้านนั้นๆก็จะถูกมองว่าเป็น “แนวต้านที่มีความสำคัญ”
การทำความเข้าใจเรื่องแนวโน้มราคา ควบคู่ไปกับการหาแนวรับแนวต้านนั้น จะช่วยให้เพื่อนๆนักวิเคราะห์มือใหม่ทุกท่าน สามารถคัดกร่องหุ้นที่มีแนวโน้มน่าสนใจ และหาจังหวะซื้อขายที่ดีได้ สตางค์คุงหวังว่าเทคนิคที่นำมาฝากกันในวันนี้จะสามารถเพิ่มมุมมองด้านการลงทุนให้กับเพื่อนๆได้นำไปต่อยอดเพื่อทำกำไรจากตลาดหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ