
วันนี้เราจะมาเสนอเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหาที่กล่าวมาด้านข้างต้น ด้วยวิธีการสร้างระบบการลงทุนขึ้นมาที่เรียกว่า การออมหุ้นอย่างสม่ำเสมอหรือวิธี Dollar Cost Average นั่นเอง
Dollar Cost Average (DCA) คืออะไร?
ถ้าตอบแบบภาษาบ้านๆ ก็คือ ลงทุนแบบถัวเฉลี่ย นั่นเอง แต่ถ้าตามแบบวิชาการก็คือ การลงทุนแบบสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด ตามความถี่ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส) โดยจะไม่คาดการณ์ภาวะของตลาด และเราจะใช้เครื่องมือคือ หุ้นหรือกองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการลงทุน
Dollar Cost Average เป็นระบบที่ออกแบบเพื่อให้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ สร้างวินัยการออม และ ที่สำคัญคือที่สุดคือลดการคาดการณ์ภาวะตลาดซึ่งจะช่วยลดการใช้อารมณ์ในการลงทุนอันเป็นสาเหตุของความผิดพลาดนั่นเอง นอกจากนี้ ยังช่วยลดความถี่ที่ต้องตัดสินใจ ทำให้เราสามารถโฟกัสกับเป้าหมายการลงทุนของเราได้ง่ายยิ่งขึ้น
แต่เดี๋ยวๆ แค่ลงทุนเท่ากันไปทุกเดือน แล้วผลตอบแทนที่ได้จะเป็นยังไงละ? เราจะพาไปดูตัวอย่างจริงๆกันเลยดีกว่าว่าให้ผลลัพธ์ยังไง และตอบโจทย์การลงทุนของเราหรือไม่ ถ้าสมมติว่าเราลงทุน 5,000 บาท ในหุ้น (ใช้ SET 100 เป็นตัวแทนหุ้นของตลาดไทย) สม่ำเสมอทุกๆ เดือนตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 2007 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 ช่วงระยะเวลาการลงทุน 10 ปี โดยที่เราไม่ต้องสนใจภาวะตลาด และไม่หนีออกจากตลาดในช่วงวิกฤต Subprime (ปี ค.ศ. 2008) มูลค่า Portfolio ของเรา จะเติบโตถึงหลักล้านบาท หรือ เท่ากับ 1,108,965 บาท จากต้นทุนทั้งหมด 600,000 คิดเป็นกำไรทั้งหมด 84% หรือถ้าคิดเป็น IRR จะอยู่ที่ประมาณ 11.98% ต่อปี จะเห็นได้ว่า..สามารถทำให้เงินลงทุนไม่กี่พันบาทในแต่ละเดือน เติบโตเป็นเงินหลักล้านได้!! โดยที่เรายังไม่ต้องใช้ความรู้ในการลงทุนใดๆเป็นพิเศษ แค่อาศัยวินัยในการลงทุน และความเข้าใจพลังของการลงทุนในระยะยาวเท่านั้นเอง!
การลงทุนแบบ DCA ถึงแม้ดูว่าจะเป็นวิธีการลงทุนที่ดีมากๆ แต่ยังไงก็ยังมีมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้

- คุณภาพในการเลือกหุ้นยังคงมีความสำคัญ : วิธีการลงทุนแบบ Dollar Cost Average เป็นการลงทุนโดยมีสมมติฐานสำคัญคือราคาหุ้นสามารถผันผวนอย่างรุนแรงได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยาวราคาสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุน ต้องปรับตัวขึ้น เพราะฉะนั้นการเลือกหุ้นจะต้องเลือกหุ้นที่ต้องมีพื้นฐานแข็งแกร่งระดับหนึ่ง ตัวคัดกรองที่ง่ายสุดคือ การเลือกหุ้นทีมี Market CAP ขนาดใหญ่หรือ หุ้นที่อยู่ใน SET 50
- ต้องมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเพียงพอ : ด้วย Nature ของหุ้นเองจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนรุนแรงในระยะสั้นแต่เติบโตได้ดีในระยะยาว ระยะเวลาในการถือจึงมีความสำคัญมาก ผมขอยกตัวอย่างช่วงที่แย่ที่สุด เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1993 –1998 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนี SET Index ทะยานถึงจุดสูงสุดที่ 1,753.73 จุดและค่อยๆ ตกต่ำลงจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ถ้าเราลงทุนด้วยวิธี DCA ในช่วง5ปีดังกล่าว IRR หรือผลตอบแทนในช่วงเวลานี้จะอยู่ที่ – 29% ก่อนที่ IRR จะค่อยๆปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 10.6% ในปี ค.ศ.2003 หมายความว่า ในช่วงระยะ 10ปี IRR จะกลับมาเป็นกำไรอีกครั้ง ซึ่งถ้าเป็นคนที่ถือหุ้นช่วง 5 ปีนั้น ก็คงช้ำใจอยู่ไม่น้อย คือต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า Dollar Cost Average ไม่ใช่วิธีป้องกันการขาดทุน 100% แต่เป็นการซื้อสะสมตามวินัย ช่วงตลาดหุ้นตก เราจะได้ต้นทุนหุ้นที่ต่ำลง ยิ่งลงมากยิ่งซื้อถูกมาก นอกจากนี้ ยังป้องกันไม่ให้เราหนีออกจากตลาดก่อนเวลาอันควร ซึ่งทำให้เราพลาดโอกาสขาขึ้นของหุ้นได้
- การกระจายความเสี่ยงยังคงมีความสำคัญ : ส่วนการลงทุนแบบ Dollar Cost Average ในหุ้นเพียงตัวเดียวถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะถ้าบริษัทผิดพลาดหรือเจ๊งไป นอกจากผลตอบแทนจะไม่ได้แล้ว เงินต้นจะกลายเป็น 0 อีก ทางเราขอแนะนำว่า ถ้าจะ Dollar Cost Average แบบหุ้นรายตัว ควรมีการคัดกรองหุ้นอย่างดีและควรมีหุ้นอย่างน้อย 4-5 ตัวขึ้นไป กระจายไปในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไปเพื่อลดความเสี่ยง
โดยสรุป ประโยชน์ที่คุณได้รับ คือ ผลตอบแทนระยะยาวค่อนข้างดีและการวางแผนการลงทุนแบบเป็นระบบระเบียบซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญไปสู่ความสำเร็จด้านการวางแผนชีวิตด้านการเงินได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์แอบแฝงที่ดูเล็กน้อย แต่ก็สำคัญไม่น้อยคือผู้ลงทุนสามารถลดเวลาที่จะต้องใช้ Focus ในการลงทุนในตลาดหุ้น และสามารถนำเวลาชีวิตส่วนนี้ไปอยู่กับครอบครัวหรือคนที่เรารัก หรือทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบโดย ไม่จำเป็นต้องมาเคร่งเครียดกับการลงทุนจนเกินไป เพราะการลงทุนควรจะเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อความสุข และควรทำด้วยความสบายใจนั่นเองนะคร้าบบ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ ทาง SBITO ก็มีโปรแกรมการลงทุนไว้รองรับ ซึ่งสะดวก ใช้ง่าย รับรองว่าเส้นทางการลงทุน อาจง่ายกว่าที่คุณคิดไว้
สนใจเปิดบัญชี กับ SBITO เพื่อรับสิทธิพิเศษ หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเลย >>> https://pr.sbito.co.th/Openaccount_blog